ยาบ้า
ยาบ้า เป็นยาเสพติด สารสังเคราะห์ประกอบด้วยเมทแอมฟีตะมีนผสมกับกาเฟอีน มีชื่ออื่นๆเรียก เช่น ยาม้า ยาขยัน ยาแก้ง่วง ยาโด๊ป ยาตื่นตัว ยาเพิ่มพลัง นิยมเสพโดยรับประทานโดยตรงหรือผสมในอาหาร หรือเครื่องดื่ม หรือเสพโดยนำยาบ้ามาบดแล้วนำไปลนไฟแล้วสูดดมเป็นไอระเหยเข้าสู่ร่างกาย จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2441
ลักษณะทางกายภาพ[แก้]
ยาบ้า มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร น้ำหนักเม็ดยาประมาณ 80-100 มิลลิกรัม มีสีต่างๆ กัน เช่น สีแดง สีส้ม สีน้ำตาล สีม่วง สีชมพู สีเทา สีเหลือง และสีเขียว เป็นต้น มีเครื่องหมายการค้า เป็นสัญลักษณ์หลายแบบ เช่น รูปหัวม้าและอักษร LONDON มีสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเม็ดยา เช่น ฬ , ฬ99 , M , PG ,WY สัญลักษณ์รูปดาว , รูปพระจันทร์เสี้ยว ,99 หรืออาจเป็นลักษณะของเส้นแบ่งครึ่งเม็ด ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้อาจปรากฏบนเม็ดยาด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน หรืออาจเป็นเม็ดเรียบทั้งสองด้าน รูปร่างของยาบ้าอาจพบในลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ กลมแบน รูปเหลี่ยมรูปหัวใจ หรือแคปซูล
ยาบ้า เป็นยากลุ่มแอมเฟทตามีน(Amphetamines) ซึ่งมีหลายตัว เช่น Dextroamphetamine, Methamphetamine เรียกกันแต่เดิมว่า “ยาม้า” ยานี้เคยใช้เป็นยารักษาโรคอยู่บ้างในอดีต สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคผลอยหลับโดยไม่รู้ตัว (Narcolepsy) เด็กที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ขาดความตั้งใจและสมาธิในการเรียน (Attention Deficit Disorder) และผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ปัจจุบันนิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย
ประวัติ[แก้]
ยาบ้ามีประวัติที่มายาวนาน โดยสังเคราะห์ได้กว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองใช้กระตุ้นความกล้าหาญและความ อดทนของทหารทั้งสองฝ่าย โดยประมาณกันว่ามีการใช้ยาบ้ากว่า 72 ล้านเม็ดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลังสงครามการใช้ยาบ้าจึงเริ่มแพร่ขยายออกไปสู่สังคม สาเหตุที่เคยเรียกว่า "ยาม้า" สันนิษฐานได้หลายแง่ บ้างว่าคงมาจากการที่เคยนำไปใช้กระตุ้นม้าแข่งให้วิ่งเร็ว และอดทน บ้างว่าเนื่องจากทำให้ผู้ใช้ยาคึกคะนอง เหมือนม้า อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมาเรียกเป็นยาบ้า ก็เพื่อจะเน้นความเป็นพิษของยา ซึ่งเมื่อใช้มากเกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำ ให้ผู้ใช้ยามีลักษณะเหมือนคนบ้าและเนื่องจากกระบวนการสังเคราะห์สารนี้ไม่ ซับซ้อน ปัจจุบันจึงมีการลักลอบสังเคราะห์ กันอยู่ในประเทศไทย
ในระยะแรก ยาบ้ามีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า "ยาขยัน" เป็นที่นิยมในกลุ่มนักเรียนที่ต้องดูหนังสือสอบดึก ๆ ต่อมาเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนขับรถบรรทุก มีชื่อเรียกว่า "ยาม้า" เหตุที่ได้ชื่อนี้มาจากเครื่องหมายการค้าของบริษัท Well come ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ส่งยาชนิดนี้มาขายในประเทศไทย
ในสมัยหนึ่งนักเคมี ทดลองสังเคราะห์ สารที่มีโครงสร้างคล้ายยาบ้ามากมายหลายตัว โดยหวังว่าคงจะมีสักตัวที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่กลับปรากฏว่าสารเหล่านั้น มักไม่มีประโยชน์แต่กลับมีผลเสียต่อจิตอารมณ์แทบทุกตัว สารอนุพันธุ์เหล่านี้ปัจจุบันมีการ ลักลอบสังเคราะห์กันในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และเรียกกันรวมๆ ว่า Designer Drugs ซึ่งหมายถึงสารที่พยายามดัดแปลงสูตรโครงสร้าง ทางเคมีจากสารเดิม ที่ถูกควบคุมโดยกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อใช้ทดแทนสารเดิมและหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมาย
ยาบ้ามีสารประกอบหลักในกลุ่มแอมเฟตามีน (Amphetamine) ซึ่งเป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาในปี ค.ศ.1887 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ เอเดเลียโน (Edeleno) ในรูปของแอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulfate) ต่อมาในปี ค.ศ.1888 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นก็สามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัวหนึ่งคือ เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางได้รุนแรงกว่า แอมเฟตามีน และยาบ้าที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ก็มีสารประกอบหลักเป็นเมทแอมเฟตามีนนี้เอง
ปัจจุบัน มีชื่อเรียกว่า ยาบ้า ตามข้อเสนอของนายเสนาะ เทียนทอง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งให้นโยบายว่า ชื่อยาม้า ทำให้ผู้เสพเข้าใจว่า เป็นยาที่กินแล้วให้กำลังวังชา มีเรี่ยวแรง คึกคักเหมือนม้า ควรจะเปลี่ยนไปเรียกว่า ยาบ้า เพื่อให้ผู้เสพตระหนักถึงโทษของยาที่ทำให้ผู้เสพไม่สามารถควบคุมสติได้ เกิดความรังเกียจ ทำให้ไม่อยากเสพ และจะช่วยลดจำนวนผู้เสพยาได้ [1] และเปลี่ยนประเภทจากสิ่งเสพติดประเภท 3 ซึ่งจำหน่ายได้ในร้านขายยา เป็นสิ่งเสพติดประเภท 1 ซึ่งห้ามจำหน่าย และมีบทลงโทษต่อผู้ขายรุนแรง เพื่อให้ผู้ขายกลัวต่อบทลงโทษ แต่กลับทำให้ยาบ้ามีราคาจำหน่ายสูงขึ้น จนสร้างผลกำไรต่อผู้ขายเป็นอย่างมาก และมีผู้ผลิตและจำหน่ายมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมให้เสพติดง่ายขึ้น มีฤทธิ์รุนแรงขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน แถบชายแดนไทยกัมพูชาจะรับซื้อยาบ้าจากทางว้าแดงส่งผ่านมาทางประเทศลาวแล้วนำยาบ้ามาบดแล้วผสมกับแป้งทำยา (Drug Powder) แล้วนำมาอัดขึ้นรูปใหม่เพื่อให้มีจำนวนเม็ดยาเพิ่มขึ้น ตัวสารเสพติดต่อเม็ดจะลดลงเพื่อเพิ่มกำไร
การออกฤทธิ์[แก้]
ยาบ้า เป็นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้าทำให้การตัดสินใจช้าและผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ เป็นบ้า อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ หรือในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก จะไปกดประสาท และระบบการหายใจทำให้หมดสติ และถึงแก่ชีวิตได้
โทษทางกฎหมาย[แก้]
ข้อหา | บทลงโทษ |
---|---|
ผลิต นำเข้า หรือส่งออก | ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หากเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต (กรณีคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไป ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย) |
จำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่าย | ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึง 5 แสนบาท หากมีสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 100 กรัม แต่ถ้าเกิน 100 กรัม ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต |
ครอบครอง | คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 20 กรัม ต้องระวางโทษจำคุก 1 ถึง 10 ปี และปรับ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท (คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 20 กรัมขึ้นไป ถือว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย) |
เสพ | ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 1 แสนบาท แต่ปัจจุบันนี้ ผู้เสพจะได้รับการบำบัดจาก โรงพยาบาลศรีธัญญารักษ์ เป็นเวลา 3 เดือน |
ใช้อุบาย หลอกลวง ขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายฯให้ผู้อื่นเสพ | ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และถ้าเป็นการกระทำต่อหญิงหรือบุคคลซึ่ง ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องระวางโทษประหารชีวิต ถ้ากระทำโดยมีอาวุธหรือร่วมกัน 2 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุก 4 ปี ถึง 30 ปี และปรับตั้งแต่ 4 หมื่นบาท ถึง 3 แสนบาท |
ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพ | ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 5 หมื่นบาท |
การสังเกตผู้ติดยา[แก้]
วิธีการสังเกตผู้ติดยาแบบทั่ว ๆ ไป ประเภทนี้มีหลายวิธี โดยเริ่มต้นจากพฤติกรรมทั่วๆไปเช่น การไม่พักผ่อน นอนดึกเป็นนิสัยแต่ตื่นตอนเช้าตรู่ ไม่ค่อยออกสังคม มีโลกส่วนตัวสูง ชอบอยู่ในสถานที่มิดชิด สูบบุหรี่จัด หรือชอบงัดแงะเครื่องจักรกลออกมาทำความสะอาดหรือซ่อมแซม กัดฟันกรามหรือเอามือม้วนที่ปลายผม หรือบีบสิว แต่งหน้าแต่งตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยๆ เวลาเรียกทานข้าวมักจะไม่มาทานด้วยเพราะยาชนิดนี้จะช่วยให้ผู้เสพไม่หิวข้าว
ให้สังเกตตามซอกตู้ ลิ้นชัก ว่ามีอุปกรณ์การเสพซ่อนอยู่หรือไม่ เช่น หลอด เวลาซักผ้าให้ตรวจดูในกระเป๋าเพื่อดูว่ามีเศษฟรอยซองบุหรี่หรือไม่ (มีลักษณะเป็นกระดาษอะลูมิเนียมบางของซองบุหรี่)
ถ้าบ้านท่านมีแผ่นฝ้าเพดานชนิดเปิดได้ให้สังเกตว่าฝ้าเพดานที่บ้านท่านปิดสนิทดีหรือไม่ เพราะผู้เสพยามักนิยมนำอุปกรณ์การเสพไปซ่อนไว้ที่นั่น ถ้าสงสัยให้เปิดดู ส่วนใหญ่ถ้าแผ่นฝ้าเพดานหากถูกเปิดบ่อยมักจะไม่สนิท รอยมือดำ ๆ ติดอยู่ที่แผ่นฝ้าเพดาน
ให้สังเกตกลุ่มเพื่อนที่มาหา เด็กกลุ่มติดยามักร่วมทำกิจกรรมที่ดูเป็นมิตรเสมอ เช่นซ้อมดนตรี วาดภาพ เปิดติว แต่ความจริงแล้วพวกเขาหาโอกาสมารวมตัวกันเสพยา ให้สังเกตว่ากิจกรรมที่เขาทำอยู่นั้นเนิ่นนานกว่าปกติหรือไม่
ถังขยะคือแหล่งข้อมูลที่สำคัญของผู้เสพ ให้สังเกตตามถังขยะหน้าบ้านเวลาบุตรหลานท่านไปทิ้งขยะ (มักทิ้งเวลาเช้าตรู่) ผู้เสพจะนำอุปกรณ์ต่างๆเหล่านั้นไปทิ้งหรือทิ้งลงโถส้วม
แต่ข้อสังเกตทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องนำบริบทแวดล้อมอื่น ๆ มาพิจารณาด้วย
สังเกตผู้ติดยาทางกายภาพของผู้เสพ[แก้]
ให้สังเกตว่าคนติดยาบ้าจะมีหน้าตาที่เรียวเล็ก แขนและขาผอมลีบ ใบหน้าดำคล้ำ ขอบตาจะดำ เส้นผมแข็งหรือผมร่วง ร่างกายจะผอมผิดปกติ ไม่ชอบอยู่เฉยๆ มีกลิ่นตัวแรง ลมหายใจเหม็น ถ้าไม่แน่ใจว่าบุตรหลานของท่านติดยาหรือไม่ให้ท่านไม่จำเป็นต้องตรวจด้วยยา ให้ใช้วิธีการให้คนๆนั้นยื่นมือยื่นแขนทั้งสองแขนเหยียดตรงมาข้างหน้า แล้วกางมือให้ตั้งฉากกับแขนแล้วกางนิ้วออก หากมีการสั่นผิดปกติ มีแนวโน้มว่าผู้นั้นใช้ยาเสพติดหรือเลือกซื้อชุดตรวจสารเสพติด
การบำบัดผู้ติดยาบ้า[แก้]
การบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้าไม่ใช่การทำให้ร่างกายปลอดจากยาเสพติด แต่เป็นการบำบัดรักษาความผิดปกติของร่างกายจากผลของยาเสพติด คือ ความผิดปกติของระบบประสาท (คือผู้เสพจะรู้สึกว่าร่างกายตื่นตัวและมีความต้องการทำในสิ่งที่คิดหรือสิ่งที่ถูกสั่งจากสมอง) โดยเฉพาะสมองส่วนกลาง (Central nervous system) และสารสื่อเคมีสมอง (Neurotransmitter) สมองของผู้ติดยาเสพติดต้องการฤทธิ์ของยาเสพติดที่จะกระตุ้นให้ระบบสมองทำงานอย่างปกติ หากช่วงใดขาดยาเสพติดไปกระตุ้นก็จะเกิดอาการผิดปกติขึ้น
อาการผิดปกติของร่างกายที่เห็นทันทีที่หยุดยาบ้า คือ อาการถอนพิษยา ซึ่งจะมีอาการหิวบ่อย กินจุ กระวนกระวาย อ่อนเพลียและมีความรู้สึกจิตใจหดหู่ บางรายมีอาการถึงขนาดอยากฆ่าตัวตาย ในระยะนี้ ผู้ติดยาบ้าจะอยากนอนและนอนเป็นเวลานานในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก
ต่อจากอาการถอนพิษยา ผู้ติดยาบ้าจะมีอาการอยากยามาก ในช่วงนี้ผู้ติดยาเสพติดจะมีความ รู้สึกไม่เป็นสุข ไม่มีกำลังทั้งทางร่างกายและจิตใจ อยากที่จะใช้ยาเพื่อกระตุ้นร่างกายและจิตใจให้เกิดความกระชุ่มกระชวยกลับมาใหม่
การบำบัดรักษายาบ้าในช่วงแรก เป็นการบำบัดรักษาเพื่อลดอาการถอนพิษยาจึงเป็นการให้ยาตามอาการ เพื่อลดความเครียด อาการซึมเศร้าหรืออาการทางจิตอื่นๆ เช่น อาการหวาดระแวง เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถประคับประคองตนเองผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ หลังจากหยุดยาบ้าประมาณ 3-4 สัปดาห์ อาการถอนพิษยาและอาการอยากยาจะลดน้อยลง
แม้ว่าผู้ติดยาบ้าที่ผ่านการบำบัดรักษาขั้นถอนพิษยาแล้ว จะมีสุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่ความผิดปกติของระบบสมอง พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้แก้ไข จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ขั้นตอน ฟื้นฟูสมรรถภาพ ต่อไป เพื่อให้ผู้ติดยาบ้าหายขาดไม่หวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก
การที่ต้องผ่านขั้นตอนฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อฟื้นฟูให้สมองของผู้ติดยาเสพติดกลับมาเป็นสมองของคนปกติ เนื่องจากระบบประสาทของคนติดยาต้องการเสพติดเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นให้มีสารเคมีสมองพอเพียงที่จะทำให้เกิดความสุขไม่วิตกกังวล หากขาดการกระตุ้นจากยาเสพติด สมองของผู้ติดยาเสพติดจะมีปฏิกิริยาตรงกันข้าม คือผู้ติดยาจะหงุดหงิดไม่เป็นสุข มีความเครียด วิตกกังวลและมีความอยากที่จะกลับไปเสพ ยาเสพติดอีก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรให้ส่วนต่างของสมองได้ปรับตัวกลับเป็นปกติในช่วงที่ระบบสมองปรับตัวเป็นปกติ ผู้ติดยาเสพติดต้องไม่หวนกลับไปเสพยาเสพติดอีก
นอกจากระบบสมองแล้ว พฤติกรรมและสภาพแวดล้อมของผู้ติดยาต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น ในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพมีหลายวิธี การที่จะช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด เช่น การเข้าค่ายฟื้นฟูฯ การให้ คำปรึกษา การทำจิตบำบัด และชุมชนบำบัด เป็นต้น เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าใจถึงปัญหาของตนเองที่นำไปสู่การเสพยาเสพติด ปรับสภาพครอบครัวให้สมาชิกในครอบครัวได้เข้าใจปัญหาและช่วยกันดูแลประคับประคองผู้ติดยาเสพติด ปรับสภาพกลุ่มเพื่อนให้ห่างไกลจากเพื่อนที่จะมาชักชวนให้เสพยาเสพติด สร้างความมั่นคงทางจิตใจผ่านทางผู้เกี่ยวข้องหรือกลุ่มที่เลิกยาแล้ว ให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถยืนหยัดแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยไม่หวนกลับไปเสพยาอีก